Pages - Menu

Sunday, July 7, 2013

ด้วงงวงมะพร้าว ทอดในกระทะน้ำมันร้อน อร่อยล้ำ

ด้วงงวงมะพร้าวโปรตีนริมสวน


การเป็นชาวบ้าน ธรรมดาไม่มีงานประจำ ไม่มีเงินเดือน ทำให้มองความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านในหลายด้านชัดเจนขึ้น สังคมเล็กๆ แห่งนี้สอนผมหลายอย่าง นับเนื่องแต่วัยเด็กกระทั่งปัจจุบัน    
ยุคนี้เป็นยุคของความเปลี่ยนแปลง เรือกสวนไร่นาแบบดั้งเดิมหดหายไป กลายเป็นสวนเชิงเดี่ยว ท้องนากลายเป็นสวนท้องร่อง


ก่อน หน้านี้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ ปี สวนท้องร่องคือกลุ่มของคนปลูกมะพร้าวเพื่อขายผลและทำน้ำตาลปี๊บ สวนท้องร่องที่เคยเต็มไปด้วยมะพร้าวเพิ่งมาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งกลายเป็นสวน ปาล์มน้ำมันเมื่อ ๓-๕ ปีที่ผ่านมานี่เอง 

ชาวสวนจ้างตัดมะพร้าวออก อาจจะขายต้นหรือยอดอ่อนกลายเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของมนุษย์

ต้น และยอดอ่อนที่ยังเหลือถูกทิ้งกองไว้อย่างเดิมโดยไม่มีอะไรรบกวนไม่นาน หากกลับไปที่กองเศษพวกนั้น จะได้ยินเสียงสวบสาบภายในยอดอ่อนที่เริ่มเน่าเปื่อย แมลงบางชนิดกำลังกัดกินอยู่ข้างใน

มนุษย์รู้จักการเอาตัวรอดในยุคแรก ของการก่อนกำเนิด อาจเพราะการรู้จักสังเกตรอบตัว จดจำและบอกต่อ กลายเป็นตำรับตำราให้คนรุ่นต่อมาได้ถือเป็นวิถี

ในยอดอ่อนของต้น มะพร้าวซึ่งเริ่มผุ ใช้ขวานหรือมีดพร้าตัดฉีกออกเป็นริ้วพบตัวอ่อนของด้วงชนิดหนึ่ง ขนาดกำลังอ้วนพีเพราะอาหารที่เจาะกินได้รอบตัว ปากแข็งสีน้ำตาลดำจะกัดกินเจาะชอนไชไปเรื่อยๆ พร้อมกับทิ้งเศษอาหารที่ย่อยแล้วไว้ข้างหลังเป็นการปิดทางป้องกันศัตรูไปใน ตัว

ด้วงงวงมะพร้าวหรือด้วงมะพร้าวจัดเป็นแมลงศัตรูพืชตระกูลปาล์ม ต้นมะพร้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งหากตัวอ่อนพวกนี้เจริญเติบโตกลายเป็นด้วงตัวเต็มวัย สามารถระบาดเข้าไปทำลายยอดอ่อนของมะพร้าวที่ยังยืนต้นให้ตายได้โดยการกัดกิน ยอดอ่อน

ธรรมชาติ ในยุคที่นักล่ากับเหยื่อมีความสมดุลกัน นกบางชนิดกินแมลงปีกแข็งพวกนี้เป็นอาหาร พืชที่มนุษย์ปลูกไว้เพื่อดำรงชีพคือพืชอาหารของสัตว์ในธรรมชาติเช่นกัน ความเชื่อมร้อยโยงใยเป็นเครือข่ายอาหารซึ่งมองไม่เห็นนี้ เป็นไปอย่างช้าๆ ในอดีต กระทั่งวงจรบางอย่างขาดสะบั้นรวดเร็วปัจจุบัน

แมลงศัตรูพืช ระบาดลุกลามไปในแต่ละท้องถิ่นล้วนมีที่มาที่ไปที่สามารถสืบเสาะได้ไม่ยาก ทว่ากลับกลายเป็นภาระของหน่วยงานทางราชการที่เข้ามาจัดการเรื่องราวแนวๆ นี้ แทนที่จะเป็นไปอย่างสอดคล้องสมดุลด้วยวิธีวิถีอย่างโบราณกาล

ครับ..วิถีโบราณหลากหลายวิธีแม้ไม่เหมาะกับยุคนี้ หากแต่บางวิธียังคงใช้ได้ตลอดกาล..
สมัย ละอ่อน, ผมเดินตามพ่อต้อยๆ เข้าสวน ตรงไปยังต้นมะพร้าวเตี้ยซึ่งโดนดัดยอดไปแล้ว เหลือกาบทางปิดปลายเอาไว้กันน้ำฝน พ่อเปิดกาบทางออกแล้วก้มลงเอาหูไปฟังเสียงจากในนั้น,ผมทำตาม ได้ยินเสียงสวบสาบดังลั่นภายในต้น จากนั้นพ่อใช้ขวานค่อยเฉาะเปลือก แกะออก แล้วความสนุกสนานก็บังเกิด
 
หนอนน้อยตัวอ่อนสีเหลืองอ่อนอ้วนพีขนาดหัวแม่โป้ง เดินกระดุ๊บกระดิ๊บไปตามช่องที่ตัวเองกัดกิน
นี่ คืออาหารโปรตีนชั้นยอดของคนบ้านสวนซึ่งมีทรัพยากรที่เอื้อให้เกิดหนอนพวกนี้ ได้เท่าที่สามารถตัดต้นมะพร้าวหรือพืชตระกูลเดียวกันให้พวกนี้ได้มาวางไข่ สร้างตัวอ่อนและเติบโต
ทาง ใต้แถบสุราษฎร์ธานีตอนล่างไปจนจรดจังหวัดสตูล มีต้นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่งอกงามริมคลองน้ำจืด ให้แป้งและให้ประโยชน์อื่นๆ หลากหลาย แต่ที่สำคัญ ลำต้นสามารถนำมาเลี้ยงหนอนด้วงพวกนี้ขายเป็นล่ำเป็นสัน เพราะราคาของหนอนด้วงในยุคนี้ ไม่ต่ำกว่ากก.ละ ๒๐๐ บาท
แพง จนคนหัวใสบางคนคิดค้นวิธีเลี้ยงโดยให้อาหารบดจากต้นพืชชนิดอื่น เพียงนำตัวเต็มวัยมาปล่อยในโรงเรือนที่ปิดมิดชิด ให้มันวางไข่ในภาชนะที่บรรจุอาหารไว้จนเต็มจากนั้นรอคอย วิธีนี้สามารถทำรายได้ให้ผู้เลี้ยงโดยไม่ต้องโค่นต้นมะพร้าวหรือต้นสาคูอีก

วิธี การเปลี่ยนจากหนอนตัวอ้วนซึ่งบางคนกินสด หากปรุงสุกเป็นอาหารหรือกับแกล้ม ปรุงง่ายๆ โดยชุบน้ำเกลือหรือเนย เหยาะพริกไทยดำกลั้วๆ ทอดในกระทะน้ำมันร้อน รอให้ผิวนอกเหลืองเข้ม กรอบนอกนุ่มใน

แค่นั้น,อร่อยล้ำ  

แม้ จะมีการจับตัวอ่อนของหนอนด้วงมาบริโภค แต่ดูเหมือนไม่ได้ลดปริมาณลงไปเลย เพราะยังมีแหล่งอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากมะพร้าวและสาคู ซึ่งหนอนด้วงพวกนี้สามารถเติบโตแพร่เผ่าพันธุ์ได้อีก

ไม่ แปลก หากจะพบว่าในแวดวงเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมันปลูกใหม่บางแปลงในบางท้องถิ่น ถูกกัดเจาะยอดอ่อนโดยด้วงชนิดนี้จนต้องมีการประกาศเป็นเขตระบาด
ต้นตอของการระบาดก็รู้ๆ กันอยู่ ใช่ไหม?
ครับ,การ เป็นชาวบ้านธรรมดาไม่มีงานประจำ ไม่มีเงินเดือน ทำให้มองความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านในหลายด้านชัดเจนขึ้น สังคมเล็กๆ แห่งนี้สอนผมหลายอย่าง ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องหนอนตัวอ้วน ที่คลานกระดื๊บกระดื๊บอยู่ในยอดมะพร้าวซึ่งสามารถเชื่อมร้อยไปถึงสิ่งแวด ล้อมและวิถีชีวิต

No comments:

Post a Comment